วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

การส่งเสริมการเกษตรเพื่อการพัฒนาการผลิตข้าว



การส่งเสริมการเกษตรเพื่อการพัฒนาการผลิตข้าว


1.  ความสำคัญ

                ราชบัณฑิตยสถาน (2525) ให้คำจำกัดอธิบายเกี่ยวกับคำว่าข้าวว่า ชื่อไม้ล้มลุกหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์ Poaceae หรือ Gramineae โดยเฉพาะชนิด Oryza sativa L. ซึ่งใช้เมล็ดเป็นอาหารหลัก มีหลายพันเช่นข้าวเจ้า ข้าวเหนียว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

                ข้าวมีความสำคัญต่อมนุษย์มาก พอๆกับข้าวสาลี ประชากรกว่าครึ่งของโลกบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก (Chang, 1979) ข้าว เป็นอาหารหลักประจำชาติและเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญยิ่งของไทย โดยมีชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน จากเกษตรกรทั้งประเทศ 5.6 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด พื้นที่เพาะปลูกข้าวปีละประมาณ 56 – 58 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละประมาณ 28.0 – 30.0 ล้านตันข้าวเปลือก มูลค่าปีละประมาณ 180,000 – 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรในระดับรากหญ้า อีกทั้งยังเป็นสิ้นค้าส่งออกที่สำคัญสามารถสร้างรายได้และนำเงินตราเข้าประเทศปีละประมาณ 80,000 – 100,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นพืชที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วย (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์, 2550)

                คนไทยร้อยละ 80 บริโภคข้าว ในปี พ.ศ.2545 คนไทยบริโภคข้าวเฉลลี่ยประมาณ 101 กิโลกรัม ข้าวสารต่อคนต่อปี ลดลงจาก 130 กิโลกรัม เมื่อปี พ.ศ. 2535 (กรมวิชาการเกษตร, 2545) ข้าวนอกจากใช้เป็นอาหารหลักแล้วยังเป็นส่วนประกอบหลักในการทำขนมหวานของขบเคี้ยวของทั้งคนไทยและต่างประเทศด้วยข้าวจึงจัดเป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ในหลายประเทศข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง แม้ว่าประเทศ จะมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศก็ตาม แต่รัฐยังคงสนับสนุน (Subsidy) ให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวต่อไปและมักจะไม่ยินยอมให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ